สองขั้วอำนาจ

สองขั้วของอำนาจ ดุลยอำนาจที่พอๆ กันเมื่อมาพิจารณาถึงกำเนิดและความเป็นมาของการเคลื่อนไหวของ นปช.และคนเสื้อแดง เราก็ต้องยอมรับความจริงในขั้นต้นนี้ก่อนว่า สภาพระบบการเมือง การปกครอง รัฐบาล รัฐสภา และสถาบันอิสระจนกระทั่งถึงตุลาการและสถาบันสื่อมวลชน รวมทั้งสถาบันการศึกษาด้วย ทั้งหมดต่างตกอยู่ในภาวะการณ์ที่เรียกว่า "ไม่ปกติ" กันทั้งนั้น ความอปกตินั้นแสดงออกต่างๆ นานา ต่างกรรมต่างวาระ โดยอาจจัดกลุ่มแบ่งออกอย่างใหญ่ๆ ได้เป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาล อำนาจรัฐขณะนั้น กับอีกกลุ่มที่คัดค้านต่อต้านรัฐบาล และอำนาจรัฐขณะนั้น ความจริงมีกลุ่มที่สามด้วยที่อาจเรียกว่าไม่ฝักใฝ่ฝ่ายรัฐและอำนาจรัฐ ไม่ว่าจะเป็นของใครก็ตามอยู่ด้วย แต่ในยามที่การเมืองวิกฤตถึงขั้นเกิดความรุนแรงและมีปริมาณขนาดใหญ่โตระดับทั้งประเทศ การแสดงออกเป็นกลางจึงไม่มีความหมาย และไม่อาจทำได้อย่างจริงๆ ด้วย ดังจะเห็นได้จาก บทบาทของกลุ่มองค์กรเอกชนและสถาบันการศึกษาที่เป็นกลุ่มสันติวิธีและอหิงสา คัดค้านไม่เอาความรุนแรงเป็นต้น ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นกลางและสันติกับฝ่ายใดมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งได้
เมื่อระบบและการปกครองตามระบบกฎหมายต่างๆ โดยรัฐบาลไม่อาจดำเนินไปได้ เนื่องจากมีการไม่ยอมรับระบบและอำนาจปกครองขณะนั้นโดยคนจำนวนมากได้แล้ว หนทางและวิธีการในการแก้ปัญหาและปมเงื่อนของความขัดแย้งนั้นก็ต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่า "การเมือง" หมายความว่า รัฐบาลและผู้ครองอำนาจต้องหาหนทางหลากหลายที่ไม่ใช่วิธีการปฏิบัติตามแบบปกติที่ทำกันมา เพื่อทำให้การใช้และรักษาอำนาจและกลไกของอำนาจรัฐยังอยู่ในมือของรัฐบาลได้ หัวใจของมันคือ ใครมีอำนาจรัฐมากกว่าใคร อำนาจอยู่ที่ใคร เพราะเมื่อความขัดแย้งถึงขั้นวิกฤต แสดงว่ากลไกและกฎระเบียบต่างๆ ย่อมไม่อาจดำเนินการได้อย่างเต็มที่ นั่นคือ สภาวการณ์ที่เกิดขึ้นกับฝ่ายความมั่นคงคือ กองทัพและตำรวจที่ไม่สามารถผลักดันการใช้อำนาจตามกฎหมายได้ อันนำไปสู่ปรากฏการณ์ของทหาร "แตงโม" และตำรวจ "มะเขือเทศ"
ในทางทฤษฎีปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนดุลย์แห่งอำนาจของรัฐแล้ว ไม่ใช่เพียงว่าใครต้องการจะเป็น ผบ.ต่อไป หรือใครเป็นเพื่อนเป็นญาติกับใคร หรือใครถูกซื้อถูกขายด้วยเงินกี่สิบล้าน แต่ที่สำคัญในเรื่องของรัฐ ก็คือบัดนี้ดุลย์แห่งอำนาจระหว่างฝ่ายรัฐบาล กับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ได้เปลี่ยนเข้าสู่ภาวะที่พอๆ กันแล้ว ไม่มีฝ่ายใดเหนือกว่าอย่างเด็ดขาด และขณะเดียวกันก็ไม่มีอะไรหรือใครอยู่ระหว่างกลางของสองฝ่ายได้ นั่นคือไม่อาจมีการประนีประนอมได้เช่นกัน การเข้าใจวิกฤตของระบบและการไร้สมรรถาพของระบบ จึงต้องมองให้ไกลและลึกกว่าปรากฏการณ์และข่าวลือเท่านั้น ภาพและเหตุการณ์ความสับสนและไร้ขื่อแป ระเบียบกฎหมายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยขณะนี้คือ การก่อตัวขึ้นของสิ่งที่เมื่อประมวลเข้าด้วยกันแล้ว อาจเรียกอย่างกว้างๆ ว่า "การปฏิวัติทางการเมือง" แต่การปฏิวัติของไพร่ครั้งนี้ไม่เหมือนตำรารัฐศาสตร์ทั้งหลาย ไม่ตรงกับทฤษฎีของการปฏิวัติใหญ่ๆ ที่ทำกันมาด้วย ไม่เหมือนแม้กับการเคลื่อนไหวในการปฏิวัติยึดอำนาจที่ได้ทำกันมาในประเทศไทยเองด้วย
ดังนั้นเมื่อมองจากประวัติศาสตร์ การเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงของกลุ่มคนเสื้อแดงครั้งนี้ จึงต้องกล่าวว่ามีนัยและความหมายที่สำคัญยิ่งต่อพัฒนาการของระบบการเมืองไทย เพราะเป็นครั้งแรกที่ประชาชนจำนวนมากมายมหาศาลจากทุกภาคของประเทศ ได้เข้าร่วมการรณรงค์เรียกร้องทางการเมืองอย่างเด็ดเดี่ยวเอาจริงเอาจัง คำสัมภาษณ์ของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตรที่ตอบว่า การชุมนุมของคนเสื้อแดงนั้น ได้เลยเรื่องตัวเขาไปแล้วจึงเป็นข้อที่น่าคิดอย่างยิ่ง และหากพิจารณาจากประสบการณ์การเข้าร่วมต่อสู้ทางการเมืองโดยตรงของประชาชน การตัดสินใจถึงขั้นที่ไม่กลัวและหลบหนีจากอำนาจรัฐนั้น แสดงว่าประชาชนได้เปลี่ยนคุณภาพของตนเองไปแล้ว แม้การปลุกระดมของบรรดาแกนนำจะมีพลังในการดึงมวลชนได้ แต่พูดให้ถึงที่สุดแล้ว กระบวนการทางสังคมในการร่วมการต่อสู้ต่างหากที่เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเป็นพลเมืองใหม่ให้แก่พวกเขา ในอดีตเราเคยได้ยินแต่การอวตารของพระนารายณ์เพื่อไปปราบทุกข์เข็ญ และพวกยักษ์มารร้ายทั้งหลาย ในการเมืองสมัยใหม่ ก็มีการอวตารของประชาชนได้เหมือนกัน โดยเปลี่ยนจากราษฎรผู้เป็นทาสหรือยอมทนอยู่ใต้อำนาจผู้อื่นอย่างเซื่องๆ มาเป็นพลเมืองผู้เป็นเจ้าของตนเอง ตระหนักในอำนาจของพลเมืองผู้เป็นเจ้าของประเทศและอำนาจรัฐอย่างแท้จริง
ถึงตอนนั้น แสดงว่าเรากำลังเห็น "การปฏิวัติของประชาชน"อยู่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น