อะไรคือความเป็นผู้หญิง

อะไรคือความเป็นผู้หญิงไทย ? "ผู้หญิงไทยคือช้างเท้าหลัง" "คือทาสในเรือนเบี้ย" "คือหลังบ้านที่ทรงอิทธิพล" "คือความอ่อนหวาน" ฯลฯ ภาพของผู้หญิงไทยเท่าที่ถูกเสนอมา มีลักษณะที่หลากหลายและบางครั้งก็ขัดแย้งกัน ขึ้นกับว่าจะใช้เอกสารชนิดใดเป็นแหล่งอ้างอิง ถ้าใช้หลักฐานทางกฎหมายซึ่งส่วนใหญ่พิจารณาจากกฎหมายตราสามดวง สถานะหรือภาพของผู้หญิงก็ดูต้อยต่ำเป็นอย่างยิ่ง และไม่มีความเท่าเทียมทางกฎหมายอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้หญิงเป็นสิทธิของพ่อแม่ และเป็นสิทธิของสามีเมื่อแต่งงานไปแล้ว ดังนั้นพ่อแม่และสามีมีสิทธิในขายลูกและเมียตัวเองได้ อย่างไรก็ตามหลุยส์ ดูปลาตร์ ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาศึกษากฎหมายตราสามดวงโดยใช้กฎหมายลักษณะผัวเมีย ลักษณะมรดก ลักษณะลักภา ลักษณะกู้หนี้เป็นหลักเสนอว่า "สถานะตามกฎหมายของหญิงสยามดีกว่าหญิงอื่นอีกหลายประเทศในเอเซีย ในประเทศสยามหญิงไม่เคยถูกมองว่าเป็นเพศที่อ่อนแอหรือไร้ความสามารถซึ่งจำต้องได้รับการคุ้มครองเหมือนทาสคนหนึ่ง" (ดูปลาตร์ 2533 หน้า 113) และหญิงมีสิทธิเท่ากับชายในการทำนิติกรรมและรับมรดก นอกจากนี้ยังมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ชายหญิงในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์คงยังไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคน เพราะในช่วงนั้นรัฐยังไม่มีอิทธิพลในเข้าไปควบคุมการดำเนินชีวิตของคนทั่วไปนัก (ตวงทอง 2539) นอกจากกฎหมายแล้วได้มีการพิจารณาจากหลักฐานอื่น ๆ พบว่า ผู้หญิงไทยโดยทั่ว ๆ ไป ดูจะไม่ต่ำต้อยนัก แม้แต่แอนนา เลียวโนเวนส์ที่ถูกมองว่าเป็นนักสตรีนิยมในยุคสมัยนั้น และต่อต้านการกดขี่โดยเฉพาะจากฝ่ายชายที่มีต่อฝ่ายหญิงยังมองว่าผู้หญิงไทยโดยทั่วๆไปแล้วจะได้รับการปฎิบัติอย่างเห็นอกเห็นใจ (Leonowens 1975)
มีหลักฐานแสดงให้เห็นถึงความคาดหวังที่แตกต่างระหว่างเพศอยู่บ้าง เช่น เด็กทารกที่เกิดเป็นชายจะมีการจัดวางสมุดดินสอไว้ในเปลด้วย ในขณะที่ถ้าเป็นทารกหญิงจะวางเข็มและด้ายไว้ (เสฐียรโกเศศ 2539 ก) ในบางบันทึกกล่าวว่า กระด้งของทารกชายจะมีการเอาของมีคมใส่ไว้ ส่วนทารกหญิงยังคงใส่เข็มกับด้ายเหมือนกัน (พระยาอนุมานราชธน อ้างใน ศิริรัตน์ อ้างแล้ว) การกระทำเช่นนี้ เป็นการสร้างการเรียนรู้ถึงหน้าที่ที่ต่างกันที่สังคมคาดหวัง สังคมยังคาดหวังให้ผู้หญิงเรียบร้อย อ่อนหวาน แม้สังคมไทยให้คุณค่ากับความสุภาพเรียบร้อยในคนทั่วไปไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย แต่สำหรับผู้หญิงไม่ใช่เพียงแค่ความคาดหวังแต่เป็นสิ่งที่ต้องเป็น โดยส่งผ่านความต้องการนี้ทางวรรณกรรมสั่งสอนหญิงทั้งหลาย เช่น
เกิดเป็นหญิงให้เห็นว่าเป็นหญิง อย่าทอดทิ้งกิริยาอัชฌาสัย เป็นหญิงครึ่งชายครึ่งอย่าพึงใจ ใครเขาไม่สรรเสริญเมินอารมณ์ (สุนทรภู่: สุภาษิตสอนหญิง)
ในวรรณกรรมพื้นบ้านของภาคต่าง ๆ ก็ดูจะคาดหวัง ความเรียบร้อยอ่อนหวานจากผู้หญิงเช่นกัน โดยเฉพาะในล้านนา ได้ให้ความสำคัญกับการพูดจาไพเราะอ่อนหวานของผู้หญิงมาก (ศิริรัตน์ เพิ่งอ้าง) ในวรรณกรรมภาคอีสานก็ได้มีการกล่าวสั่งสอนในเรื่องกิริยามารยาทของผู้หญิงอย่างละเอียด เช่นต้องพูดอย่างไร เดินอย่างไร (พิชัย 2532) ผู้หญิงไทยไม่ได้ถูกคาดหวังให้สุภาพอ่อนหวานเพียงอย่างเดียวแต่ต้องขยันขันแข็งเป็นอย่างยิ่งและทำทุกอย่างได้เท่ากับผู้ชาย ดังคำกล่าวในวรรณกรรมล้านนาที่ว่า "มื่อฆ่าเหล็กตาย สองตีนยันพระอาทิตย์" ต้องทำงานในไร่นา ต้องรู้เรื่องการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้า ดูแลเงินของครอบครัว และต้องเป็นคนดี มีศีลธรรม (ศิริรัตน์ อ้างแล้ว) ผู้หญิงจะเป็นฝ่ายที่ถูกสั่งสอนมากกว่าผู้ชาย และมีระเบียบแบบแผนที่ควบคุมพฤติกรรมอย่างมากมายและมากกว่าผู้ชาย จนมีการตั้งข้อสังเกตว่า การลงข่วงผีฟ้าซึ่งเป็นพิธีกรรมของอีสานที่ยอมให้ผู้หญิงทุกคนที่มาร่วมงานสามารถดื่มเหล้าและเล่นสนุกได้เช่นเดียวกับที่ผู้ชายทำกัน มีขึ้นเพื่อระบายความเครียดให้กับผู้หญิงที่ต้องทนอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดในชีวิตประจำวัน (จารุวรรณ 2527)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น