ล้อการเมือง

การเมืองไทย

การเมืองไทย: กลับมาเป็นปกติ?ปกติไม่จำเป็นต้องหมายความว่าเป็นประชาธิปไตย

นายกฯ ไทยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้บินไปฮ่องกงและเกาหลีใต้เมื่อไม่นานมานี้ เพื่อยืนยันกับนักลงทุนว่าการเมืองของประเทศไทยได้กลับสู่สภาวะปกติแล้ว แต่ในประเทศไทยของอภิสิทธิ์ สภาวะปกติหมายถึงการลื่นไถลอย่างน่าเศร้ากลับไปสู่โครงร่างที่เรียกว่าเป็น ประชาธิปไตยแบบไทยๆซึ่งเป็นระบบที่นักการเมือง พรรคการเมือง และรัฐสภา ถูกทำให้อ่อนแอ และอำนาจที่แท้จริงตกอยู่ในมือของสถาบันแบบดั้งเดิมที่กดขี่ และเป็นลำดับขั้น (hierarchical)การให้ความเชื่อมั่นของ อภิสิทธิ์หลังจากหลายปีของความวุ่นวายซึ่งเริ่มต้นเมื่อปี 2548 จากการที่มีประท้วงขับไล่อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร และถูกสับขั้วโดยการรัฐประหารปี 2549 ที่ทำให้ทักษิณต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ ที่ทำให้มีความรุนแรงบนถนนมากขึ้น การบุกยึดครองสนามบินโดยพันธมิตรที่คลั่งเจ้าและการปราบปรามผู้ประท้วงต่อ ต้านรัฐบาลเมื่อกลางเดือนเมษายนสถาบัน เหล่านี้ได้ให้ "เสถียรภาพทางการเมือง" กับประเทศไทยในอดีต นั่นก็คือสถาบันพระมหากษัตริย์ ทหาร และข้าราชการ แต่สถาบันดังกล่าวได้ตกอยู่ในสภาวะกดดันจากการพัฒนาของระบอบรัฐสภาใน ช่วงที่ทักษิณเป็นนายกฯ จุดศูนย์กลางของอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจซึ่งอยู่ในมือเขา และการดึงดูดชนชั้นที่ยากจนและอ่อนแอที่สุดของเขามันท้าทายความคิดของพวก อนุรักษ์นิยมซึ่งมีจุดศูนย์กลางของอำนาจอยู่ที่กลุ่มชนชั้นสูงที่เป็น อนุรักษ์นิยมขณะนี้มีหลักฐานอยู่มากมายที่แสดงให้เห็นว่ากลุ่ม อนุรักษ์นิยมซึ่งถือว่าตนเองมีความชอบธรรมมากที่สุดในการปกครองประเทศได้ กลับเข้ามามีอำนาจอีกครั้ง นายกฯอภิสิทธิ์และพรรคร่วมรัฐบาลของเขาที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ทำหน้าที่ เป็นแค่ผู้จัดการเวทีเพื่อการกลับมาของพวกอนุรักษ์นิยม

ทางสองแพร่งของจริยธรรมการบริหารรัฐกิจ

ทางสองแพร่งของจริยธรรมการบริหารรัฐกิจ

“การบริหารรัฐกิจแนวเก่า” (Old Public Administration) และ “การจัดการภาครัฐแนวใหม่” (New Public Management) ให้ความสนใจและความสำคัญกับการพัฒนาการบริหารภายในองค์การหรือระบบราชการเพื่อให้บรรลุคุณค่าที่สำคัญคือ“ประสิทธิภาพ” (Bureaucracy and efficiency) ส่วนการบริการประชาชนแนวใหม่ (New Public Service) ให้ความสนใจและความสำคัญกับแนวคิดเรื่องความเป็นพลเมืองแบบประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมของพลเมืองในการกำหนดผลประโยชน์สาธารณะและการมีความรับผิดชอบร่วมกันของพลเมืองและรัฐบาลในการบริหารงานภาครัฐ การตรวจสอบอย่างเป็นประชาธิปไตย ความยุติธรรม ความเป็นธรรม ความเสมอภาคและมิติความเป็นมนุษย์ของข้าราชการเพื่อให้บรรลุคุณค่าที่สำคัญ คือ “ความเป็นประชาธิปไตย” (Democracy)

การบริการภาครัฐแนวใหม่


การบริการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Service)

ให้ความสำคัญกับ “ประชาธิปไตย” ว่าเป็นคุณค่าหลักที่สำคัญ แนวทางนี้มีรากฐานจากทฤษฎีเกี่ยวกับประชาธิปไตย และแนวทางอื่น ๆ ในการแสวงหาความรู้ ซึ่งรวมถึงแนวทางแบบประจักษ์นิยม แนวทางการ ตีความ แนวทางเชิงวิพากษ์วิจารณ์ และแนวทางแบบโพสต์โมเดิร์น มองข้าราชการว่าเป็นคนมีเหตุผลในเชิงยุทธศาสตร์ที่ใช้เหตุผล ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และองค์การ มองผลประโยชน์สาธารณะว่าเป็นผลจากการพูดคุยเกี่ยวคุณค่าที่มีร่วมกัน มองประชาชนว่าเป็นพลเมืองซึ่งมีทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบ นักบริหารหรือข้าราชการมีบทบาทรับใช้ประชาชน (Serving) เพราะประชาชนคือเจ้าของประเทศตัวจริง ข้าราชการต้องมีบทบาทในการเจรจาไกล่เกลี่ย และเป็นตัวกลางที่จะทำให้เกิดค่านิยมร่วมกันในหมู่พลเมือง ชุมชน และกลุ่มต่าง ๆ กลไกที่จะทำให้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ของนโยบายคือการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อให้บรรลุผลที่ตกลงร่วมกัน มองว่ากลไกการตรวจสอบมีหลากหลาย ทั้งด้านกฎหมาย ค่านิยมของชุมชน บรรทัดฐานทางการเมือง มาตรฐานทางด้านวิชาชีพ และผลประโยชน์ของพลเมือง ข้าราชการควรมีดุลยพินิจแต่ต้องมีการควบคุมและตรวจสอบ โครงสร้างองค์การควรเป็นแบบร่วมมือกันโดยมีผู้นำร่วมทั้งจากภายในและภายนอกองค์การ ส่วนปัจจัยจูงใจข้าราชการและนักบริหารคือการได้รับใช้ประชาชนและการได้ทำประโยชน์ให้แก่สังคม

การไม่ให้ความยุติธรรมกับคนจน

การไม่ให้ความยุติธรรมกับคนจน
คราวนี้หันมาดูว่า"การไม่ให้ความยุติธรรมกับคนจน" ถ้าเราไปถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือถามข้าราชการส่วนใหญ่ก็ตามในปัจจุบันนี้ ถามว่าเขามีเจตนาร้ายต่อคนจนเหล่านี้ เขาเกลียดคนจนเหล่านี้ใช่หรือไม่ ? เขาบอกว่า"ไม่ใช่" นโยบายพัฒนาของเขาหวังว่า จะสร้างงานชนิดใหม่ขึ้นมาเพื่อสร้างรายได้แก่คนเหล่านี้มากกว่าเก่าเสียอีก ซึ่งเป็นนโยบายที่ติดมากับนโยบายการพัฒนาสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในที่นี้ไม่ทราบจะจำได้หรือไม่ ถ้าเราย้อนกลับดูตอนที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ทำรัฐประหารยึดอำนาจได้นั้น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จะโดยคำแนะนำของหลวงวิจิตรวาทการหรืออะไรก็แล้วแต่ ได้ออกมาบอกว่า สิ่งที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ใฝ่ฝันให้แก่สังคมไทย คือ"จะทำให้สังคมเรา กลายเป็นสังคมของชนชั้นกลาง" เกิดชนชั้นกลางเป็นส่วนใหญ่ในสังคมไทย ซึ่งจะทำให้สังคมของเราต่อต้านคอมมิวนิสมได้ เพราะชนชั้นกลางไม่ชอบการเป็นคอมมิวนิสท์ และนอกจากนั้นแล้วจะทำให้ทุกคนมีความสุข เพราะชนชั้นกลางมีเงิน และมีการศึกษาดี เพราะฉะนั้นจุดมุ่งหมายของการพัฒนาก็คือ การพยายามสร้างชนชั้นกลาง
ด้วยเหตุดังนั้น ผมคิดว่ามันเป็นส่วนที่มัน built in อยู่ในระบบ ถูกสร้างมาตั้งแต่ต้นเลยในระบบการพัฒนาของเราที่จะทำลายล้างคนซึ่งไม่ยอมเป็นคนชั้นกลางทั้งหลาย เช่นเป็นต้นว่า คุณเป็นเกษตรกรรายย่อย เกษตรกรรายย่อยก็อย่างที่เรารู้จักอยู่ คือคนที่เสียเปรียบที่สุด เพราะว่านโยบายของรัฐตลอดเวลาที่ผ่านมา 40 กว่าปีนี้ คือนโยบายที่ไม่เอื้อต่อการทำเกษตรกรรมรายย่อยเลย คนที่ไปบุกเบิกที่ดินหรือเผาป่าเพื่อที่จะปลูกไร่ ทำไร่ส้มทีเดียว 2000 ไร่ บางคนอาจจะประสบความสำเร็จได้ แต่ถ้าคุณเป็นเกษตรกรรายย่อยแล้วร่วมอยู่ในกระแสการพัฒนา ไม่มีใครสามารถหลุดรอดมาได้แม้สักคนเดียว เพราะว่าตัวนโยบายตั้งแต่ต้น มันตั้งใจจะเป็นอย่างนั้น ให้คนเหล่านั้นหลุดออกไปจากการทำเกษตรกรรมรายย่อย กลายมาเป็นแรงงานในภาคเกษรตรกรรมก็ตาม แรงงานในภาคอุตสาหกรรมก็ตาม แต่ถ้าจะเป็นแรงงานในภาคเกษรตรกรรม ก็จะเป็นแรงงานในภาคเกษรตรกรรมก้าวหน้า เช่น การทำเกษตรในเชิงพันธะสัญญา เป็นต้น ความจริงก็เป็นแรงงานให้เขาแต่ว่ามันซ่อนอยู่เท่านั้น. หรือมิฉะนั้นอีกทีหนึ่งก็คือไปปลูกข้าวเพื่อทำเบียร์ เป็นแรงงานให้กับบริษัทที่ปลูกข้าวบาร์เล่ย์สำหรับที่จะนำมาผลิตเบียร์
เพราะฉะนั้นความคิดเกี่ยวกับการสร้างสังคมชนชั้นกลางขึ้นมา ก็ยังมีอยู่ แล้ววิธีสร้างนั้น ทำให้คนที่ไม่มีโอกาสเป็นชนชั้นกลาง หรือคนที่ไม่ใช่เป็นคนชั้นกลาง หลุดออกไปจากฐานเดิมของตัวเองเสีย แล้วจะไปพัฒนาตัวเองเป็นชนชั้นกลางก็ตามใจ ถ้าพัฒนาไม่ได้ก็เข้าไปสู่โรงงานอุตสาหกรรม
ในทุกวันนี้ถ้าท่านสังเกตุให้ดีท่านจะพบว่า ทุกรัฐบาลหรือทุกพรรคการเมืองพูดเหมือนๆกันหมด คล้ายๆกับว่า คนที่เป็นกรรมกรในโรงงานอุตสาหกรรมดีกว่าที่จะเป็นชาวนา จริงหรือเปล่า ?

อะไรคือความเป็นผู้หญิง

อะไรคือความเป็นผู้หญิงไทย ? "ผู้หญิงไทยคือช้างเท้าหลัง" "คือทาสในเรือนเบี้ย" "คือหลังบ้านที่ทรงอิทธิพล" "คือความอ่อนหวาน" ฯลฯ ภาพของผู้หญิงไทยเท่าที่ถูกเสนอมา มีลักษณะที่หลากหลายและบางครั้งก็ขัดแย้งกัน ขึ้นกับว่าจะใช้เอกสารชนิดใดเป็นแหล่งอ้างอิง ถ้าใช้หลักฐานทางกฎหมายซึ่งส่วนใหญ่พิจารณาจากกฎหมายตราสามดวง สถานะหรือภาพของผู้หญิงก็ดูต้อยต่ำเป็นอย่างยิ่ง และไม่มีความเท่าเทียมทางกฎหมายอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้หญิงเป็นสิทธิของพ่อแม่ และเป็นสิทธิของสามีเมื่อแต่งงานไปแล้ว ดังนั้นพ่อแม่และสามีมีสิทธิในขายลูกและเมียตัวเองได้ อย่างไรก็ตามหลุยส์ ดูปลาตร์ ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาศึกษากฎหมายตราสามดวงโดยใช้กฎหมายลักษณะผัวเมีย ลักษณะมรดก ลักษณะลักภา ลักษณะกู้หนี้เป็นหลักเสนอว่า "สถานะตามกฎหมายของหญิงสยามดีกว่าหญิงอื่นอีกหลายประเทศในเอเซีย ในประเทศสยามหญิงไม่เคยถูกมองว่าเป็นเพศที่อ่อนแอหรือไร้ความสามารถซึ่งจำต้องได้รับการคุ้มครองเหมือนทาสคนหนึ่ง" (ดูปลาตร์ 2533 หน้า 113) และหญิงมีสิทธิเท่ากับชายในการทำนิติกรรมและรับมรดก นอกจากนี้ยังมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ชายหญิงในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์คงยังไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคน เพราะในช่วงนั้นรัฐยังไม่มีอิทธิพลในเข้าไปควบคุมการดำเนินชีวิตของคนทั่วไปนัก (ตวงทอง 2539) นอกจากกฎหมายแล้วได้มีการพิจารณาจากหลักฐานอื่น ๆ พบว่า ผู้หญิงไทยโดยทั่ว ๆ ไป ดูจะไม่ต่ำต้อยนัก แม้แต่แอนนา เลียวโนเวนส์ที่ถูกมองว่าเป็นนักสตรีนิยมในยุคสมัยนั้น และต่อต้านการกดขี่โดยเฉพาะจากฝ่ายชายที่มีต่อฝ่ายหญิงยังมองว่าผู้หญิงไทยโดยทั่วๆไปแล้วจะได้รับการปฎิบัติอย่างเห็นอกเห็นใจ (Leonowens 1975)
มีหลักฐานแสดงให้เห็นถึงความคาดหวังที่แตกต่างระหว่างเพศอยู่บ้าง เช่น เด็กทารกที่เกิดเป็นชายจะมีการจัดวางสมุดดินสอไว้ในเปลด้วย ในขณะที่ถ้าเป็นทารกหญิงจะวางเข็มและด้ายไว้ (เสฐียรโกเศศ 2539 ก) ในบางบันทึกกล่าวว่า กระด้งของทารกชายจะมีการเอาของมีคมใส่ไว้ ส่วนทารกหญิงยังคงใส่เข็มกับด้ายเหมือนกัน (พระยาอนุมานราชธน อ้างใน ศิริรัตน์ อ้างแล้ว) การกระทำเช่นนี้ เป็นการสร้างการเรียนรู้ถึงหน้าที่ที่ต่างกันที่สังคมคาดหวัง สังคมยังคาดหวังให้ผู้หญิงเรียบร้อย อ่อนหวาน แม้สังคมไทยให้คุณค่ากับความสุภาพเรียบร้อยในคนทั่วไปไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย แต่สำหรับผู้หญิงไม่ใช่เพียงแค่ความคาดหวังแต่เป็นสิ่งที่ต้องเป็น โดยส่งผ่านความต้องการนี้ทางวรรณกรรมสั่งสอนหญิงทั้งหลาย เช่น
เกิดเป็นหญิงให้เห็นว่าเป็นหญิง อย่าทอดทิ้งกิริยาอัชฌาสัย เป็นหญิงครึ่งชายครึ่งอย่าพึงใจ ใครเขาไม่สรรเสริญเมินอารมณ์ (สุนทรภู่: สุภาษิตสอนหญิง)
ในวรรณกรรมพื้นบ้านของภาคต่าง ๆ ก็ดูจะคาดหวัง ความเรียบร้อยอ่อนหวานจากผู้หญิงเช่นกัน โดยเฉพาะในล้านนา ได้ให้ความสำคัญกับการพูดจาไพเราะอ่อนหวานของผู้หญิงมาก (ศิริรัตน์ เพิ่งอ้าง) ในวรรณกรรมภาคอีสานก็ได้มีการกล่าวสั่งสอนในเรื่องกิริยามารยาทของผู้หญิงอย่างละเอียด เช่นต้องพูดอย่างไร เดินอย่างไร (พิชัย 2532) ผู้หญิงไทยไม่ได้ถูกคาดหวังให้สุภาพอ่อนหวานเพียงอย่างเดียวแต่ต้องขยันขันแข็งเป็นอย่างยิ่งและทำทุกอย่างได้เท่ากับผู้ชาย ดังคำกล่าวในวรรณกรรมล้านนาที่ว่า "มื่อฆ่าเหล็กตาย สองตีนยันพระอาทิตย์" ต้องทำงานในไร่นา ต้องรู้เรื่องการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้า ดูแลเงินของครอบครัว และต้องเป็นคนดี มีศีลธรรม (ศิริรัตน์ อ้างแล้ว) ผู้หญิงจะเป็นฝ่ายที่ถูกสั่งสอนมากกว่าผู้ชาย และมีระเบียบแบบแผนที่ควบคุมพฤติกรรมอย่างมากมายและมากกว่าผู้ชาย จนมีการตั้งข้อสังเกตว่า การลงข่วงผีฟ้าซึ่งเป็นพิธีกรรมของอีสานที่ยอมให้ผู้หญิงทุกคนที่มาร่วมงานสามารถดื่มเหล้าและเล่นสนุกได้เช่นเดียวกับที่ผู้ชายทำกัน มีขึ้นเพื่อระบายความเครียดให้กับผู้หญิงที่ต้องทนอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดในชีวิตประจำวัน (จารุวรรณ 2527)

สองขั้วอำนาจ

สองขั้วของอำนาจ ดุลยอำนาจที่พอๆ กันเมื่อมาพิจารณาถึงกำเนิดและความเป็นมาของการเคลื่อนไหวของ นปช.และคนเสื้อแดง เราก็ต้องยอมรับความจริงในขั้นต้นนี้ก่อนว่า สภาพระบบการเมือง การปกครอง รัฐบาล รัฐสภา และสถาบันอิสระจนกระทั่งถึงตุลาการและสถาบันสื่อมวลชน รวมทั้งสถาบันการศึกษาด้วย ทั้งหมดต่างตกอยู่ในภาวะการณ์ที่เรียกว่า "ไม่ปกติ" กันทั้งนั้น ความอปกตินั้นแสดงออกต่างๆ นานา ต่างกรรมต่างวาระ โดยอาจจัดกลุ่มแบ่งออกอย่างใหญ่ๆ ได้เป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาล อำนาจรัฐขณะนั้น กับอีกกลุ่มที่คัดค้านต่อต้านรัฐบาล และอำนาจรัฐขณะนั้น ความจริงมีกลุ่มที่สามด้วยที่อาจเรียกว่าไม่ฝักใฝ่ฝ่ายรัฐและอำนาจรัฐ ไม่ว่าจะเป็นของใครก็ตามอยู่ด้วย แต่ในยามที่การเมืองวิกฤตถึงขั้นเกิดความรุนแรงและมีปริมาณขนาดใหญ่โตระดับทั้งประเทศ การแสดงออกเป็นกลางจึงไม่มีความหมาย และไม่อาจทำได้อย่างจริงๆ ด้วย ดังจะเห็นได้จาก บทบาทของกลุ่มองค์กรเอกชนและสถาบันการศึกษาที่เป็นกลุ่มสันติวิธีและอหิงสา คัดค้านไม่เอาความรุนแรงเป็นต้น ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นกลางและสันติกับฝ่ายใดมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งได้
เมื่อระบบและการปกครองตามระบบกฎหมายต่างๆ โดยรัฐบาลไม่อาจดำเนินไปได้ เนื่องจากมีการไม่ยอมรับระบบและอำนาจปกครองขณะนั้นโดยคนจำนวนมากได้แล้ว หนทางและวิธีการในการแก้ปัญหาและปมเงื่อนของความขัดแย้งนั้นก็ต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่า "การเมือง" หมายความว่า รัฐบาลและผู้ครองอำนาจต้องหาหนทางหลากหลายที่ไม่ใช่วิธีการปฏิบัติตามแบบปกติที่ทำกันมา เพื่อทำให้การใช้และรักษาอำนาจและกลไกของอำนาจรัฐยังอยู่ในมือของรัฐบาลได้ หัวใจของมันคือ ใครมีอำนาจรัฐมากกว่าใคร อำนาจอยู่ที่ใคร เพราะเมื่อความขัดแย้งถึงขั้นวิกฤต แสดงว่ากลไกและกฎระเบียบต่างๆ ย่อมไม่อาจดำเนินการได้อย่างเต็มที่ นั่นคือ สภาวการณ์ที่เกิดขึ้นกับฝ่ายความมั่นคงคือ กองทัพและตำรวจที่ไม่สามารถผลักดันการใช้อำนาจตามกฎหมายได้ อันนำไปสู่ปรากฏการณ์ของทหาร "แตงโม" และตำรวจ "มะเขือเทศ"
ในทางทฤษฎีปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนดุลย์แห่งอำนาจของรัฐแล้ว ไม่ใช่เพียงว่าใครต้องการจะเป็น ผบ.ต่อไป หรือใครเป็นเพื่อนเป็นญาติกับใคร หรือใครถูกซื้อถูกขายด้วยเงินกี่สิบล้าน แต่ที่สำคัญในเรื่องของรัฐ ก็คือบัดนี้ดุลย์แห่งอำนาจระหว่างฝ่ายรัฐบาล กับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ได้เปลี่ยนเข้าสู่ภาวะที่พอๆ กันแล้ว ไม่มีฝ่ายใดเหนือกว่าอย่างเด็ดขาด และขณะเดียวกันก็ไม่มีอะไรหรือใครอยู่ระหว่างกลางของสองฝ่ายได้ นั่นคือไม่อาจมีการประนีประนอมได้เช่นกัน การเข้าใจวิกฤตของระบบและการไร้สมรรถาพของระบบ จึงต้องมองให้ไกลและลึกกว่าปรากฏการณ์และข่าวลือเท่านั้น ภาพและเหตุการณ์ความสับสนและไร้ขื่อแป ระเบียบกฎหมายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยขณะนี้คือ การก่อตัวขึ้นของสิ่งที่เมื่อประมวลเข้าด้วยกันแล้ว อาจเรียกอย่างกว้างๆ ว่า "การปฏิวัติทางการเมือง" แต่การปฏิวัติของไพร่ครั้งนี้ไม่เหมือนตำรารัฐศาสตร์ทั้งหลาย ไม่ตรงกับทฤษฎีของการปฏิวัติใหญ่ๆ ที่ทำกันมาด้วย ไม่เหมือนแม้กับการเคลื่อนไหวในการปฏิวัติยึดอำนาจที่ได้ทำกันมาในประเทศไทยเองด้วย
ดังนั้นเมื่อมองจากประวัติศาสตร์ การเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงของกลุ่มคนเสื้อแดงครั้งนี้ จึงต้องกล่าวว่ามีนัยและความหมายที่สำคัญยิ่งต่อพัฒนาการของระบบการเมืองไทย เพราะเป็นครั้งแรกที่ประชาชนจำนวนมากมายมหาศาลจากทุกภาคของประเทศ ได้เข้าร่วมการรณรงค์เรียกร้องทางการเมืองอย่างเด็ดเดี่ยวเอาจริงเอาจัง คำสัมภาษณ์ของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตรที่ตอบว่า การชุมนุมของคนเสื้อแดงนั้น ได้เลยเรื่องตัวเขาไปแล้วจึงเป็นข้อที่น่าคิดอย่างยิ่ง และหากพิจารณาจากประสบการณ์การเข้าร่วมต่อสู้ทางการเมืองโดยตรงของประชาชน การตัดสินใจถึงขั้นที่ไม่กลัวและหลบหนีจากอำนาจรัฐนั้น แสดงว่าประชาชนได้เปลี่ยนคุณภาพของตนเองไปแล้ว แม้การปลุกระดมของบรรดาแกนนำจะมีพลังในการดึงมวลชนได้ แต่พูดให้ถึงที่สุดแล้ว กระบวนการทางสังคมในการร่วมการต่อสู้ต่างหากที่เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเป็นพลเมืองใหม่ให้แก่พวกเขา ในอดีตเราเคยได้ยินแต่การอวตารของพระนารายณ์เพื่อไปปราบทุกข์เข็ญ และพวกยักษ์มารร้ายทั้งหลาย ในการเมืองสมัยใหม่ ก็มีการอวตารของประชาชนได้เหมือนกัน โดยเปลี่ยนจากราษฎรผู้เป็นทาสหรือยอมทนอยู่ใต้อำนาจผู้อื่นอย่างเซื่องๆ มาเป็นพลเมืองผู้เป็นเจ้าของตนเอง ตระหนักในอำนาจของพลเมืองผู้เป็นเจ้าของประเทศและอำนาจรัฐอย่างแท้จริง
ถึงตอนนั้น แสดงว่าเรากำลังเห็น "การปฏิวัติของประชาชน"อยู่

เสื้อแดง ปรากฎการณ์การเคลื่อนไหวใหญ่ของมวลชน

นปช.หรือกลุ่ม "เสื้อแดง": ปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวใหญ่ของมวลชนปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวใหญ่ของมวลชนอีกครั้ง คราวนี้เป็นการรวมตัวประท้วงของประชาชนรากหญ้าภายใต้การนำของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่ม "เสื้อแดง" ได้สำแดงพลังในการชุมนุมประท้วงรัฐบาลอภิสิทธิ์อย่างเป็นระบบในเดือนเมษายน ๒๕๕๒ แล้วจบลงด้วการถูกสลายของกองกำลังทหาร "บูรพาพยัคฆ์" อันทำให้รัฐบาลและกองทหารเชื่อว่าตนจะสามารถทำการสลายการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงในวันที่ ๑๐ เมษายนนี้ได้อีกอย่างง่ายดาย
"สองมาตรฐาน"การเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงครั้งล่าสุด ซึ่งเริ่มด้วยการยกขบวนเดินทางเข้ามายังกรุงเทพมหานครอย่างขนานใหญ่ และได้ยึดสะพานผ่านฟ้าฯ ถนนราชดำเนิน ทำการประท้วงอย่างอหิงสาสงบสันติก็ดำเนินไปอย่างยาวนานกว่าที่ทุกฝ่ายเคยประเมินไว้ จำนวนปริมาณผู้ชุมนุมจากต่างจังหวัดนับได้ถึงจำนวนแสน นับเป็นการชุมนุมประท้วงของคนรากหญ้าและต่างจังหวัดที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในทางความคิดและนโยบายการเมือง ผู้ชุมนุมก็มีความคิดเป็นเอกภาพ มีทรรศนะตรงกันในเรื่องความไม่ยุติธรรมของระบบปกครองฯ ประโยคที่กลายมาเป็นวรรคทองไปก็คือ "สองมาตรฐาน" ยากที่คนในสังคมไทยจะไม่เข้าใจ ไม่มีใครโดยเฉพาะคนที่ได้เปรียบในสังคมนี้จะไม่เคยได้รับอานิสงส์ของสิ่งที่เรียกว่า "สองมาตรฐาน"
"ระบอบอำมาตย์" - "อำมาตยาธิปไตย" - "ไพร่"อีกวาทกรรมหนึ่งที่ปรากฏขึ้น และได้รับการตอบรับจากผู้ชุมนุมและแนวร่วม ผู้สังเกตุการณ์ทั่วไปอย่างกว้างขวาง นั่นคือวลีว่า "ระบอบอำมาตย์" "อำมาตยาธิปไตย" และในที่สุด การเรียกตัวเองของกลุ่มผู้ประท้วงจากชนบทอันกว้างใหญ่ว่า "ไพร่" ภาษาและวาทกรรมของคำทั้งหลายนี้ น่าสนใจอย่างยิ่ง เนื่องจากว่าในทางวิชาการแล้ว ภาษาและคำเหล่านี้เป็นคำเก่าและความหมายเก่าที่ถูกใช้และเข้าใจกันในบริบทของประวัติศาสตร์โบราณ หรือก่อนสมัยใหม่เท่านั้น การใช้อย่างทั่วไปที่ยังดำรงอยู่ก็ในด้านบันเทิง เช่น ละครโทรทัศน์ ประเภทจักรๆ วงศ์ๆ ซึ่งยังมีการสร้างและฉายให้เยาวชนไทยดูอย่างไม่เสื่อมคลาย ไม่ว่าโลกจะภิวัฒน์ไปถึงไหน เด็กไทยก็ยังถูกปลูกฝังด้วยคติไทยๆ แบบเด็กไทยเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ อีกด้านก็ใช้ในการบริภาษหรือแสดงความไม่พอใจเป็นส่วนบุคคลเท่านั้น ไม่มีการใช้ในพื้นที่สาธารณะอย่างมีความหมายร่วมสมัยได้
อันนี้ก็เป็นพัฒนาการของการต่อสู้ในการเมืองไทยที่ขัดกัน ในขณะที่กลุ่ม นปช.เสื้อแดงมีจุดหมายไปสู่อนาคตที่ใหม่กว่าและดีกว่าเก่า แต่ภาษาและคำที่ใช้ในการสื่อและฉายไปสู่อนาคตกลับเป็นคำเก่าและภาษาเก่าที่ไม่มีชีวิตแล้ว คราวนี้พวกเขาใส่ชีวิตและพลังของความรู้สึกร่วมกันเข้าไปในภาษาและคำเก่าเหล่านั้นได้ ทำให้มันกลับมีชีวิตขึ้นมาอีก ที่ตลกคือ ชีวิตใหม่ของคำเก่าเหล่านี้กลับเป็นเครื่องมือทิ่มแทงตัวมันเอง มากกว่าการให้ชีวิตเพื่อให้มันกลับมามีการดำรงอยู่อย่างธรรมชาติอีกเหมือนเดิม.